ข่าวและกิจกรรม

เครือข่ายความร่วมมือเพื่อปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อเรียกร้องออกมาตรการกำกับดูแล และสร้างการรู้เท่าทันให้แก่เด็กและบุคคลแวดล้อม พร้อมผลักดันให้การปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์เป็นวาระแห่งชาติ

วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เครือข่ายความร่วมมือเพื่อปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์ นำโดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก เดินทางเข้าสภาฯ อ่านแถลงการณ์ต่อ สว. ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมาธิการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบ ออกมาตรการกำกับดูแล และสร้างการรู้เท่าทันให้แก่เด็กและบุคคลแวดล้อม พร้อมผลักดันให้การปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง สว. ครูหยุย รับจะแต่งตั้งคณะทำงานมาดูแลขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับเครือข่ายต่อไป

     เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย 48 องค์กรสมาชิก นำโดยประธานเครือข่าย พี่วาสนา เก้านพรัตน์ และคณะกรรมการขับเคลื่อน ร่วมประกาศเจตนารมย์ปกป้องคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์

     7 ข้อเรียกร้อง จากเครือข่ายความร่วมมือเพื่อปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์ ต่อรัฐบาล ผ่าน สว. ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมาธิการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส

          1. ร่วมผลักดันให้การสร้างความตระหนักเรื่องเด็กและเยาวชนกับภัยออนไลน์ เป็นวาระแห่งชาติ
          2. ให้มีกลไกในการติดตามการดำเนินงานตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมสื่ออิเล็คทรอนิกส์ ที่มีเนื้อหาเป็นอันตรายต่อเด็ก เช่น เว็บไซต์การละเมิดสิทธิเด็ก การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ สิ่งเสพติด สื่อลามกอนาจาร สื่อที่เสนอข่าวลวง ข่าวปลอม และล่อลวงเด็กไปในทางที่ผิด เป็นต้น
          3. ผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมเกมคอมพิวเตอร์ และเกมออนไลน์ เพื่อกำหนดให้มีการจัดเรตติ้งเนื้อหาเกม การควบคุมสถานประกอบการเกม การกำกับดูแลการสื่อสารเพื่อชักจูงเด็กเข้าเล่น หรือเข้าแข่งขันเกมอย่างไม่เหมาะสมและไร้ขอบเขต การกำหนดอายุเด็กในการเข้าเล่นเกมและเข้าแข่งขันเกม การปกป้องเด็กและเยาวชนจากพนันในเกม เป็นต้น โดยให้มีการแสดงความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วน
          4. ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการความรับผิดชอบร่วมเกี่ยวกับอีสปอร์ตเพื่อการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กใช้เวลาและเงินไปกับเกมอย่างไม่เหมาะสม และก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา
          5. สร้างชุดการเรียนรู้ เพื่อให้เท่าทันภัยออนไลน์ สำหรับเด็กและบุคคลแวดล้อม พร้อมผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ได้จริงอย่างทั่วถึง
          6. สนับสนุนให้เกิดการศึกษา วิจัย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ และจัดให้มีการบริการให้คำปรึกษา และบำบัดเยียวยาผลกระทบของภัยออนไลน์ ต่อเด็กและเยาวชน ที่เข้าถึงได้ง่าย และมีคุณภาพ
          7. ส่งเสริมให้มีการสื่อสารสาธารณะผ่านสื่อทุกแขนง เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหา และร่วมกันเสนอแนะข้อมูล ความรู้ ที่ถูกต้อง เพิ่มขึ้นในเนื้อหาสื่อที่นำเสนอ นอกเหนือจากการรายงานเหตุการณ์เท่านั้น เพื่อให้ครอบครัวหรือสังคมที่เผชิญปัญหาดังกล่าว ได้นำไปปฏิบัติเบื้องต้น พร้อมทั้งไม่สื่อสารผ่านสื่อทุกรูปแบบ ในแนวทางที่เป็นการตอกย้ำ ซ้ำเติม หรือยุยง ชักจูง โน้มน้าว ที่อาจเป็นการก่อให้เกิดปัญหาจากภัยออนไลน์ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

     รายนามเครือข่ายความร่วมมือเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์
          1. สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน
          2. มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
          3. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
          4. ศูนย์ประสานงานส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ภายใต้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
          5. เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย (48 องค์กร)
          6. สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
          7. สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย
          8. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
          9. เครือข่ายเด็กไทยไม่พนัน
          10. เครือข่ายพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง
          11. ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม

Previous article
เฟซบุ๊ก เปิดแพลตฟอร์มเรียนรู้ภาษาไทย "We Think Digital" เพื่อช่วยส่งเสริมทักษะสำหรับโลกดิจิทัล และสร้างชุมชนของพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบได้
Next article
มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สร้างการเรียนรู้ต่อต้าน cyber bullying และ school bully รวมถึงการแจ้งเบาะแสและขอความช่วยเหลือผ่านแอพพลิเคชั่น M Help Me แก่นักเรียนชั้น ป. 5 เกือบ 300 คน วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ณ โรงเรียนวัดหนองแขม กรุงเทพฯ