ออนไลน์ปลอดภัย

แชร์ลูกโซ่ คืออะไร?

การหลอกให้หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจ ที่อ้างว่ามีผลกำไรที่ดีมาก โดยเสนอผลตอบแทนที่สูงลิ่วในเวลาอันสั้นเป็นการจูงใจ   คำว่า “ลงทุน”   “ผลตอบแทนสูง”   “ใช้เวลาไม่นาน”   ยิ่งล่อหลอกให้คนมาร่วมลงทุนเยอะขึ้น เพราะหวังที่จะรวยได้แบบรวดเร็ว 

รูปแบบการลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่

  • การหลอกลวงว่าจะนำเงินที่มีไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ
  • ผลตอบแทนดีเกินจริงในเวลาอันรวดเร็ว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าไปลงทุนแบบไหน เพราะไม่ได้เอาเงินไปลงทุนจริง
  • เน้นหาสมาชิก เครือข่ายร่วมลงทุน

จุดสังเกต รู้ไว้ไม่โดนหลอก

  1. ใช้การโฆษณาด้วยประโยคที่ว่า ลงทุนง่าย ไม่ต้องใช้ทุนเยอะ ได้ดอกเบี้ยเกินร้อย เพิ่มเพื่อนในไลน์ ต้องเฉลียวใจไว้ก่อน ยิ่งได้ผลตอบแทนเยอะๆ ภายในหนึ่ง หนึ่งเดือน  ช่วงแรก ๆ ก็จะได้เงินปันผลตามที่กล่าวอ้าง ค่อนข้างเร็ว  แต่หลังๆ ก็จะเริ่มได้ช้าลง  จนถึงไม่ได้เลย  การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง ควรศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วน
  2. ตัวแทนหรือคนที่มาชวนมักจะ โชว์ความร่ำรวย หรือสิ่งที่ได้จากการลงทุน  โชว์เงินเป็นฟ่อน ๆ หรือรถหรูป้ายแดง   แชร์ลูกโซ่ในลักษณะนี้มาในรูปแบบการขายตรง เน้นการหาสมาชิกเข้ามาอยู่ในทีม และเก็บเงินค่าสมาชิกแพง ๆ อ้างเป็นค่าแรกเข้า   บางครั้งก็เป็นคนที่เรารู้จัก ทำให้เชื่อถือไว้ใจ ชักชวนให้นำเงินที่มีมาลงทุน แต่คนที่เราเคยไว้ใจก็อาจเชิดเงินของเราหนีได้ เพื่อความปลอดภัยหากมีใครมาชวนเราลงทุนกับธุรกิจประเภทขายตรงแบบนี้ สามารถนำชื่อ บริษัทไปเช็คได้ที่  datawarehouse.dbd.go.th   ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากค้นหาแล้วไม่เจอ รีบบอกปฏิเสธให้ไว เพราะเรากำลังเจอแก๊งแชร์ลูกโซ่เข้าให้แล้ว
  3. มีแผนธุรกิจมาเสนอ หรือชวนเข้าร่วมสัมมนาแบบฟรี ๆ คำว่า ฟรี  ไม่มีในโลก   ชวนเรา ล่อหลอกเราให้เข้าร่วมการฟังแผนธุรกิจ หรือสัมมนาแล้วค่อยให้เราตัดสินใจใหม่ ซึ่งขั้นตอนนี้เราจะโดนหลอกด้วยคำว่า ‘ฟรี’ และก็มักจะชวนเราไปตามโรงแรมหรู ๆ เลี้ยงอาหารแพง ๆ เพื่อทำให้เราเชื่อใจว่าธุรกิจของพวกเขาน่าเชื่อถือ บางครั้งมักจะมีบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักธุรกิจ หรือสมาชิกที่ประสบความสำเร็จมาพูด ทำให้เราคล้อยตามได้ง่าย รู้ตัวอีกทีจากที่เราเคยปฏิเสธ ก็อาจหลวมตัวร่วมลงทุนไปแล้ว

แชร์ลูกโซ่” ผิดข้อกฎหมายอะไรบ้าง?

ข้อมูลจากรายงาน “รู้เท่าทันการเงินนอกระบบ” สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ระบุว่า ข้อกฎหมายและบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับคดีแชร์ลูกโซ่ มีอยู่หลายบทด้วยกัน ได้แก่

1. พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

มาตรา 4   : ผู้กระทำการหลอกลวงประชาชนโดยให้ชักชวนให้ลงทุน โดยนำเงินหรือทรัพย์สิน และให้ไปชักชวนคนให้นำเงินมาลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง โดยผู้หลอกลวงมิได้นำเงินที่ได้มาไปประกอบธุรกิจที่ถูกกฎหมายเพียงแต่นำเงินที่ได้มาจากผู้ลงทุนรายใหม่ไปหมุนเวียนจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนรายเก่า

มาตรา 5  : เป็นความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนฯ ตามลักษณะของมาตรา 4

มาตรา 12 : ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

2. ประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดฐานฉ้อโกง)

มาตรา 341: ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้น กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน)

มาตรา 343: ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวโนวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวใน

มาตรา 342: อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1 พันบาทถึง 1 หมื่น 4 พันบาท

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

มาตรา 3, 14 (1) ฐานร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ประกอบกับความผิดฐานร่วมกัน “กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” และร่วมกัน “ฉ้อโกงประชาชน”

** อ้างอิง : “รู้เท่าทันการเงินนอกระบบ” สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง,

หากเราเกิดตกเป็นเหยื่อของแก๊งแชร์ลูกโซ่

  • ให้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นข้อความการพูดคุย หลักฐานทุกอย่างที่มี นำใบแจ้งความไปดำเนินเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI
  • หรือโทรสายด่วน 1202 เพื่อติดตามเอาผิดแก๊งแชร์ลูกโซ่ ทวงเงินที่เราโดนหลอกไปกลับคืนมา
  • ที่สำคัญ  มีสติ  อย่าโลภ   กลั่นกรองและหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ  ก่อนหลงเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องเงินตอบแทนสูงๆ  ให้คิดเอาไว้ว่าได้เงินเยอะ ๆ ง่ายๆ  ไม่มีอยู่จริง
Previous article
อินโฟกราฟิก ไม่ส่งภาพลับแลกกัน : วันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัย
Next article
ดาบสองคมและ ผลกระทบต่อเด็กเมื่อ พ่อ แม่ชอบอวดรูปบนโลกโซเชียล